Tag Archives: อุทยานแห่งชาติ

ความหลากหลายทางชีวภาพ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง

ความหลากหลายทางชีวภาพ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง พื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะขนาดใหญ่ในเขตอุทยาน จะเป็นป่าไม่ผลัดใบ มีพรรณไม้สำคัญคือ พลองใบมน รักป่า อบเชย เต่าร้าง หวาย และรองเท้านารีช่องอ่างทอง ตามชายฝั่งแคบๆจะมีป่าชายทะเลกระจายอยู่ พรรณไม้สำคัญคือ หูกวาง โพทะเล กระทิง ปอทะเล ลำเจียก และพลับพลึงทอง บริเวณภูเขาหินปูน จะมีป่าที่มีลักษณะเฉพาะขึ้นอยู่บนหน้าดินบางๆ พืชส่วนใหญ่ในป่าแถบนี้จะมีขนาดเล็ก เช่น จันทน์ผา สลัดได ยอป่า และอาจพบป่าชายเลนได้บ้างบริเวณชายหาดและสันดอน

บริเวณอุทยานพบนกอย่างน้อย 53 ชนิด โดยเป็นจำพวกนกเป็ดน้ำและนกชายฝั่งประมาณ 10 ชนิด มีนกประจำถิ่น 32 ชนิด เช่น นกยางเขียว เหยี่ยวแดง และนกอพยพ 9 ชนิด เช่น นกยางดำ นกปากซ่อมดง นกเด้าดิน มีนกที่ใกล้สูญพันธุ์อยู่ 1 ชนิด คือ นกเงือกดำ และนกที่ถูกคุกคาม ได้แก่ นกออก นกลุมพูขาว นกลุมพูเขียว นกแอ่นกินรัง และเหยี่ยวแดง

ปลาที่พบในทะเลบริเวณอุทยานมีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ เช่น ปลาทู ปลาลัง ปลาเก๋าแดง ปลาปากคม ปลาสีกุน กระเบนจุดขาว กระเบนจุดฟ้า ปลาทรายแดง ปลาหลังเขียว ปลาตะเพียนน้ำเค็ม ปลากะตักใหญ่ ปลาจวด ปลาตาหวานจุด ปลาอินทรี ปลาดาบเงินใหญ่ ปลาสาก อันดับปลาซีกเดียวปลาลิ้นหมา ส่วนปลาที่พบตามแนวปะการัง เช่น ปลาสลิดหินดำ ปลาสลิดหินเขียว ปลาสลิดทะเล ปลาข้าวเม่าน้ำลึก ปลาผีเสื้อลายแปดเส้น ปลาผีเสื้อปากยาว ปลาสินสมุทรลายน้ำเงิน ปลากระทุงเหว ปลานกแก้ว ปลาสร้อยนกเขา ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง ปลาพยาบาล

ในอุทยานพบสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเพียง 5 ชนิด ขณะที่พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างน้อย 16 ชนิด เช่น ค่างแว่นถิ่นใต้ นากใหญ่จมูกขน วาฬชนิดต่างๆ

อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว

อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในจังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอแหลมสิงห์ อำเภอขลุง และอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 134.50 ตารางกิโลเมตร หรือ 84,062.50 ไร่ ประกอบด้วยป่าที่สมบูรณ์ เทือกเขาสูงสลับซับซ้อน ทำให้มีอากาศจะเย็นสบายตลอดทั้งปี ยอดเขาสลับซับซ้อนสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 20-924 เมตร จุดสูงสุดของพื้นที่อยู่ที่ยอดเขามาบหว้ากรอก มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 924 เมตร และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย อยู่ห่างจากจังหวัดจันทบุรีประมาณ 14 กิโลเมตร ถนนลาดยางตลอดสายทำให้สะดวกสบายในการไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ

ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้วได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 11 ของประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติเขาสระบาป” แต่ต่อมา นายผจญ ธนมิตรามณี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสระบาปได้ทำหนังสือขอเปลี่ยนชื่ออุทยานเป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว เนื่องจากน้ำตกพลิ้วเป็นน้ำตกที่มีความสวยงามตามธรรมชาติ มีน้ำตกตลอดปี อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป และเป็นจุดเด่นของอุทยาน

น้ำตกพลิ้ว เป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสวยงาม มีน้ำตลอดปี ประกอบด้วยสายธาร 2 สาย สายหนึ่งไหลลดหลั่นผ่านซอกหินผา อีกสายหนึ่งมีขนาดเล็กกว่า แต่ทิ้งตัวลงมาจากผาสูง 20 เมตร ทั้งสองสายไหลมารวมกันในแอ่งน้ำใสสะอาด มากสามารถมองเห็นพื้นล่างซึ่งส่วนใหญ่เป็นหินและทรายในระดับลึกกว่า 2 เมตร ภายในบริเวณน้ำตกและลำคลอง มีปลาใหญ่น้อยหลายชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นที่ตื่นตาตรึงใจกับฝูงปลาแก่ผู้ที่ไปท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะ “ปลาพลวงหิน”

อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร

อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร อยู่ในพื้นที่ของ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี อาณาเขตด้านใต้ติดต่อกับประเทศกัมพูชา มีถนนและบันไดทางขึ้นสู่ปราสาทเขาพระวิหารบริเวณผามออีแดง ในตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 19 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 83 ของประเทศ

พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาพระวิหาร ป่าฝั่งลำโดมใหญ่ ท้องที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ป่าไม้ชายแดนให้เป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ ห้ามเข้าไปและอาศัยอยู่โดยเด็ดขาด เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวยังคงความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่มาก มีทัศนียภาพที่สวยงาม ตลอดจนโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และกรมป่าไม้กำหนดและประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ

อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารมีทัศนียภาพและทิวทัศน์ที่สวยงามอยู่หลายแห่ง เช่น จุดชมวิวผามออีแดง จุดชมวิวหน้าผาช่องโพย บริเวณป่าและสวนหินรอบสระตราว ถ้ำฤๅษี แหล่งตัดหิน สถูปคู่ ภาพสลักนูนต่ำใต้ผามออีแดง น้ำตกผาช่องโพย จุดชมวิว ภูเซี่ยงหม้อ ปราสาทโดนตวล และที่สำคัญคือ ปราสาทเขาพระวิหาร อันเป็นโบราณสถานสำคัญเก่าแก่ ที่เคยเป็นกรณีพิพาทระหว่างไทยกับประเทศกัมพูชา เมื่อพ.ศ. 2505 และในที่สุดศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ได้ตัดสินให้ตัวปราสาทอยู่ในอธิปไตยของประเทศกัมพูชา แต่ถนนและบันไดทางขึ้นสู่ปราสาทเขาพระวิหารอยู่ทางฝั่งไทย และพื้นที่ทางขึ้นบริเวณผามออีแดงที่จังหวัดศรีสะเกษเป็นทางขึ้นที่สะดวกที่สุด

อุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ

อุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ เป็นอุทยานแห่งชาติในอำเภอพบพระ จังหวัดตาก เป็นอุทยานแห่งชาติที่ครอบคลุมพื้นที่กว้าง จุดท่องเที่ยวแต่ละแห่งอยู่ห่างกันพอสมควร โดยอยู่ถนนเส้นทางหลัก

แหล่งท่องเที่ยวภายในอุทยาน
น้ำตกพาเจริญ เป็นน้ำตกหินปูน ไหลจากลำห้วยน้อยใหญ่มารวมกันเป็นแอ่งใหญ่ แล้วไหลลงน้ำตก ลดหลั่นลงไป 37 ชั้นด้วยกัน และมีน้ำไหลตลอดปี
บ่อน้ำร้อนห้วยน้ำนัก เป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติ มีอุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียส เดินทางได้จากทางหลวงหมายเลข 1206 สายพบพระ-บ้านช่องแคบ
น้ำตกป่าหวาย เป็นน้ำตกหินปูนอีกแห่งหนึ่ง มีน้ำตลอดปี และมีป่าหวายหนาแน่น ใช้เส้นทาง 1090 เลี้ยวซ้ายก่อนถึงกิโลเมตรที่ 42 เข้าไปประมาณ 20 กิโลเมตร
น้ำตกสายฟ้าและน้ำตกสายรุ้ง เป็นน้ำตกที่มีน้ำตลอดปีอีกแห่งหนึ่ง มีละอองน้ำกระทบแสงแดดเหมือนรุ้งกินน้ำ
น้ำตกธารารักษ์หรือน้ำตกเจดีย์โคะ เป็นน้ำตกขนาดเล็ก ชั้นเดียว มีน้ำตลอดปี หน้าผาสูง 30 เมตร ข้างบนเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ อยู่ใกล้ตัวอำเภอพบพระ บนเส้นทาง 1206

ข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก ที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ หมู่ 6 ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก 63160 โทรศัพท์ 0 5550 0906