Category Archives: ท่องเที่ยว

วัดอมรินทรารามวรวิหาร หรือชื่อเดิมว่า วัดบางหว้าน้อย

วัดอมรินทรารามวรวิหาร หรือชื่อเดิมว่า วัดบางหว้าน้อย ตั้งอยู่เลขที่ 566 แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดราชวรวิหาร ต่อมาถูกจัดเป็นชั้นตรีชนิดวรวิหาร ตามประกาศลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2548

ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ แล้วสถาปนาให้เป็นพระอารามหลวง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 กรมพระราชวังหลังได้ทรงสถาปนาวัดนี้ขึ้นใหม่ได้เป็นผู้สถาปนาขึ้นใหม่หมดทั้งพระอาราม คือ สร้างพระอุโบสถ พระระเบียง วิหาร กำแพงแก้ว ศาลาราย หอระฆัง หอไตร หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญ กุฏิ เสนาสนะ และถนนในพระอาราม รัชกาลที่ 1 ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดอมรินทราราม” คู่กับวัดบางหว้าใหญ่ที่เปลี่ยนชื่อเป็นวัดระฆังโฆสิตาราม ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดถูกทิ้งระเบิดใส่ แต่อุโบสถไม่ถูกทำลาย

โรงเรียนวัดอมรินทราราม สังกัดกองการมัธยมศึกษา กรมวิสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งมาก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า ก่อตั้งมาแต่เมื่อใด เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ (ม.๑) – มัธยมศึกษาปีที่ ๘ (ม.๘) มีชื่อเสียงทั้งด้านวิชาการและด้านการกีฬาในยุคสมัยนั้น ต่อมา ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตาราม เป็นโรงเรียนสังกัดเดียวกัน ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตา-รามวรมหาวิหาร ได้เปลี่ยนจากโรงเรียนชายไปเป็นโรงเรียนหญิงชื่อ “โรงเรียนสตรีวัดระฆัง” จึงโอนนักเรียนชายทั้งหมดมาเรียนที่โรงเรียนวัดอมรินทรารามและได้ชื่อใหม่ว่า “ โรงเรียนอมรินทร์โฆสิต ” และเปิดการสอนต่อมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้น สถานที่ตั้งโรงเรียนอยู่ใกล้สถานีรถไฟธนบุรีอันเป็นจุดยุทธศาสตร์ อาคารเรียนถูกลูกระเบิดทำลายและไฟไหม้หมด เมื่อสงครามโลกครั้ง ที่ ๒ สงบลง นักเรียนโรงเรียนอมรินทร์โฆสิตต้องไปอาศัยเรียนที่โรงเรียนทวีธาภิเศก ซึ่งภายหลังได้มีการรวมตัวกันก่อตั้ง “ สมาคมศิษย์เก่าทวีธาภิเศกอมรินทรโฆสิต ” ขึ้น เพราะสงครามโลกครั้งที่ ๒ โรงเรียนวัดอมรินทราราม ยุคเริ่มต้นจึงถูกยุบเลิกไปโดยปริยาย

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งธนบุรี โดยมีเลขทะเบียนวัดที่ 24 ถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร การบูรณะวัดส่งผลให้วัดได้รับรางวัลยอดเยี่ยม อันดับ 1 ให้โครงการบูรณะปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์วัดประยุรวงศาวาส ด้านการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ยูเนสโก

วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เป็นวัดที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ ดิศ บุนนาค เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่กรมท่า และสมุหพระกลาโหม ได้อุทิศสวนกาแฟสร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2371 ซึ่งมีอาณาเขตติดกับบ้านสมเด็จเจ้าพระยาฯ ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2375 ได้ถวายเป็น พระอารามหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า “วัดประยุรวงศาวาส” ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดรั้วเหล็ก” เพราะมีรั้วเหล็กเป็นกำแพงวัดอยู่เป็นบางตอน รั้วเหล็กนี้สูงประมาณ 3 ศอกเศษ ทำเป็นรูปอาวุธคือ หอก ดาบ และขวาน ขวานสามหมื่น ปืนสามกระบอก หอกสามแสน มีลักษณะเป็นกำแพงและซุ้มประตูเล็กๆ เป็นตอนๆ วัดจากมุมวิหารคตข้างพระอุโบสถไปจรดกำแพงประตูวัดด้านตะวันออกยาว 148 เมตร ล้อมบริเวณอุทยานเขามอ เขาเต่า อีก 2 ด้านด้านตะวันตกยาว 48 เมตร ด้านใต้ยาว 43 เมตรล้อมเป็นกำแพงหน้าวัด ตอนขวามือเข้ามายาว 40 เมตร ตอนซ้ายมือเข้ามายาว 20 เมตร

มีเรื่องเล่าว่า รั้วเหล็กนี้เดิมสมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์สั่งเข้ามาจากประเทศอังกฤษเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้ล้อมเป็นกำแพงในพระราชวัง แต่พระเจ้าอยู่หัวไม่โปรด สมเด็จเจ้าพระยาจึงขอรับพระราชทานมาใช้ล้อมเป็นกำแพงในวัด โดยใช้น้ำตาลทรายแลกเอา หนักต่อหนัก คือเหล็กหนักเท่าใด น้ำตาลทรายก็หนักเท่านั้น ในคราวเดียวกันนั้นยังทูลเกล้าฯ ถวายพรมผืนใหญ่ 1 ผืน กับโคมกิ่งแก้ว 3 โคม ซึ่งไม่โปรด จึงได้ทูลขอ พระราชทานโคมไปประดับในพระอุโบสถวัดนี้

วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท

วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตก เข้าทางถนนจรัญสนิทวงศ์ ตรงข้ามกับบางขุนนนท์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย พระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดราชวรวิหารวัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร เป็นที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดทอง ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นสถานที่ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชดำรัสให้นำเชลยศึกพม่าจากค่ายบางแก้วไปประหารชีวิต ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนาขึ้นใหม่ทั้งพระอารามและพระราชทานนามว่า “วัดสุวรรณาราม” นอกจากนี้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท มีพระราชศรัทธาสร้างเมรุหลวงสำหรับใช้ในการพระราชทานเพลิงศพเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ ซึ่งตามประเพณีต้องนำไปฌาปนกิจนอกกำแพงพระนครชั้นนอก เมรุหลวงนี้ใช้มาจนถึงในสมัยรัชกาลที่ 5

ในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณารามและให้ช่างเขียนภาพฝาผนังในพระอุโบสถด้วย มีงานของจิตรกรอย่างหลวงวิจิตรเจษฎา (ทองอยู่) ผู้เขียนเนมิราชชาดก กับหลวงเสนีย์บริรักษ์ (คงแป๊ะ) ผู้เขียนมโหสถชาดก เป็นต้น

ทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม พระอุโบสถ สร้างตามแบบแผนศิลปกรรมสมัยรัชกาลที่ 1 มีเสาทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง มีระเบียงทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ช่อฟ้าใบระกาประดับกระจก หน้าบันจำหลักลายรูปเทพนมและรูปนารายณ์ทรงครุฑปิดทอง สถาปัตยกรรมอื่นๆ ภายในวัดได้แก่ พระวิหารสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีมุขขวางทั้งด้านหน้าและด้านหลังกับหมู่กุฏิสงฆ์ที่เป็นเรือนไม้ฝาปะกน เก่าแก่และงดงามมาก หมู่กุฏิสงฆ์ เป็นหมู่ตึก 6 หลัง มีหอฉันอยู่กลางและมีหอเล็กติดกำแพง 2 หอพร้อมทั้งหอระฆังและหอไตร

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ไม่ไกลจากจังหวัดสุโขทัยเท่าใดนัก ลักษณะของศิลปะและสถาปัตยกรรมในอุทยานแห่งนี้เป็นศิลปะแบบเดียวกับที่ปรากฏในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีโบราณสถานที่สวยงามและขนาดใหญ่มากมาย หลายแห่งในอดีตเมืองกำแพงเพชรถือเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของอาณาจักรสุโขทัย

สระมน หรือบริเวณวังโบราณ ด้านเหนือวัดพระแก้วมีกำแพงดินสี่เหลี่ยมอยู่เกือบติดกำแพงเมืองด้านเหนือ ภายในกำแพงมีคูล้อม 3 ด้าน ตรงกลางขุดสระมน เป็นที่เข้าใจว่าบริเวณสระมนนี้เป็นวัง ส่วนปราสาทราชฐานไม่มีเหลืออยู่เลย เมื่อขุดลอกสระแล้วตกแต่งบริเวณ พบฐานศิลาแลงบางตอนและได้พบกระเบื้องมุงหลังคาตกหล่นอยู่ทั่วไป

พิพิธภัณฑสถานจังกำแพงเพชรเฉลิมพระเกียรติ เป็นสถานที่แสดงผลงานของศูนย์บริรักษ์ไทยและศูนย์จริยศึกษา จำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นเมืองของจังหวัด ผลิตภัณฑ์ชาวเขาและกลุ่มแม่บ้าน ภายในตัวอาคารจัดเป็นห้องโสตทัศนูปกรณ์ที่ทันสมัยประกอบด้วยระบบภาพแสงและเสียง ในระบบมัลติมีเดีย การแสดงนิทรรศการด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ความหลากหลายทางชีวภาพ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง

ความหลากหลายทางชีวภาพ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง พื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะขนาดใหญ่ในเขตอุทยาน จะเป็นป่าไม่ผลัดใบ มีพรรณไม้สำคัญคือ พลองใบมน รักป่า อบเชย เต่าร้าง หวาย และรองเท้านารีช่องอ่างทอง ตามชายฝั่งแคบๆจะมีป่าชายทะเลกระจายอยู่ พรรณไม้สำคัญคือ หูกวาง โพทะเล กระทิง ปอทะเล ลำเจียก และพลับพลึงทอง บริเวณภูเขาหินปูน จะมีป่าที่มีลักษณะเฉพาะขึ้นอยู่บนหน้าดินบางๆ พืชส่วนใหญ่ในป่าแถบนี้จะมีขนาดเล็ก เช่น จันทน์ผา สลัดได ยอป่า และอาจพบป่าชายเลนได้บ้างบริเวณชายหาดและสันดอน

บริเวณอุทยานพบนกอย่างน้อย 53 ชนิด โดยเป็นจำพวกนกเป็ดน้ำและนกชายฝั่งประมาณ 10 ชนิด มีนกประจำถิ่น 32 ชนิด เช่น นกยางเขียว เหยี่ยวแดง และนกอพยพ 9 ชนิด เช่น นกยางดำ นกปากซ่อมดง นกเด้าดิน มีนกที่ใกล้สูญพันธุ์อยู่ 1 ชนิด คือ นกเงือกดำ และนกที่ถูกคุกคาม ได้แก่ นกออก นกลุมพูขาว นกลุมพูเขียว นกแอ่นกินรัง และเหยี่ยวแดง

ปลาที่พบในทะเลบริเวณอุทยานมีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ เช่น ปลาทู ปลาลัง ปลาเก๋าแดง ปลาปากคม ปลาสีกุน กระเบนจุดขาว กระเบนจุดฟ้า ปลาทรายแดง ปลาหลังเขียว ปลาตะเพียนน้ำเค็ม ปลากะตักใหญ่ ปลาจวด ปลาตาหวานจุด ปลาอินทรี ปลาดาบเงินใหญ่ ปลาสาก อันดับปลาซีกเดียวปลาลิ้นหมา ส่วนปลาที่พบตามแนวปะการัง เช่น ปลาสลิดหินดำ ปลาสลิดหินเขียว ปลาสลิดทะเล ปลาข้าวเม่าน้ำลึก ปลาผีเสื้อลายแปดเส้น ปลาผีเสื้อปากยาว ปลาสินสมุทรลายน้ำเงิน ปลากระทุงเหว ปลานกแก้ว ปลาสร้อยนกเขา ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง ปลาพยาบาล

ในอุทยานพบสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเพียง 5 ชนิด ขณะที่พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่างน้อย 16 ชนิด เช่น ค่างแว่นถิ่นใต้ นากใหญ่จมูกขน วาฬชนิดต่างๆ

อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง

อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ใน อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา มีถนนเพชรเกษมตัดผ่าน แบ่งอุทยานแห่งชาติออกเป็นสองส่วนคือ เขาลำปี ฝั่งตะวันออก และ หาดท้ายเหมือง ฝั่งตะวันตก

เขาลำปี สภาพป่าในบริเวณเทือกเขาลำปีเป็น ป่าดิบชื้น พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยาง หลุมพอ ตะเคียนทอง ตะเคียนชันตาแมว กระบาก เทพทาโร ยมหอม สุเหรียน ทุ้งฟ้า พลอง ฉก ฯลฯ พืชพื้นล่าง ได้แก่ ปุด เร่วดง หวายขม หวายขริง หวายกำพวน ไผ่ หมากผู้หมากเมีย คล้า กล้วยป่า และบริเวณที่ใกล้ลำธารจะเป็นเฟินตีนตะขาบ โปรงทอง ลำเพ็ง ผักกูด และกูดขน เป็นต้น เป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น เหยี่ยวผึ้ง เหยี่ยวรุ้ง ไก่ฟ้าหน้าเขียว นกหว้า นกแสกแดง นกเค้าป่าสีน้ำตาล นกโพระดก นกพญาไฟ ชะนีมือขาว ลิงเสน ลิงกัง ค่าง สมเสร็จ เก้ง และเลียงผา เป็นต้น

หาดท้ายเหมือง บริเวณหาดท้ายเหมืองเป็นที่ราบชายฝั่งด้านตะวันตกเป็นหาดทรายขาว ด้านตะวันออกจรด ป่าชายเลน ที่ขึ้นอยู่ริมคลองหินลาด พันธุ์ไม้ที่พบ ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนดำ ตะบูนขาว ลำพู ถั่วดำ ถั่วขาว แสมขาว และแสมดำ บางส่วนเป็นป่าจากล้วน ป่าชายเลนนี้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นแหล่งสืบพันธุ์ และสถานที่วางไข่ของสัตว์บกและสัตว์น้ำต่างๆ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลาต่างๆ จึงเป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารของนกและสัตว์ป่าหลากหลายชนิด เช่น นกกาน้ำเล็ก นกยางทะเล เหยี่ยวแดง นกแต้วแล้วป่าโกงกาง ลิงแสม พังพอนกินปู เหี้ย งูปากกว้างน้ำเค็ม งูสามเหลี่ยม งูแสมรัง และปลาซิวข้าวสารชวา เป็นต้น

บริเวณชายหาดจะเป็น ป่าชายหาด มี สนทะเล จิกเล หูกวาง หยีทะเล ปอทะเล เมา มะนาวผี และรักทะเล ส่วนพืชพื้นล่างได้แก่ สังหยู สาบเสือ ลำเท็ง ปรงทะเล เตยทะเล ผักบุ้งทะเล และถั่วทะเล ขึ้นอยู่ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลากชนิด เช่น เหยี่ยวขาว นกออก ไก่ป่า นกกวัก นกหัวโตทรายเล็ก นกเขาใหญ่ นกกระปูดใหญ่ นกบั้งรอกใหญ่ นกกะเต็นอกลาย นกตะขาบดง นกแซงแซวหางปลา ลิ่นชวา กระแตใต้ ค้างคาวขอบหูขาวเล็ก ชะมดแผงสันหางดำ พังพอนเล็ก แย้ จิ้งเหลนบ้านเป็นต้น

บริเวณศูนย์กลางพื้นที่หาดท้ายเหมืองประมาณ 1,000 ไร่ มีสภาพเป็น ป่าพรุ ที่มีน้ำจืดขังอยู่เกือบตลอดปี สภาพดินเป็นดินทรายละเอียดขาวนวล สังคมพืชที่เด่นชัดในสภาพป่านี้คือ เสม็ดขาว บริเวณที่ดอนจะมีเสม็ดแดง ชะมวงป่า มะพลับพรุ ตีนเป็ด และหว้าน้ำ ขึ้นปะปน พืชอิงอาศัยที่ขึ้นรอบลำต้นไม้ขนาดใหญ่ เช่น กระแตไต่ไม้ สไบสีดา เกล็ดนาคราช เฟินก้ามปู และเฟินข้าหลวง โดยมี กระดุมเงิน โคลงเคลง ปลาไหลเผือก เข็มป่า รามใหญ่ กะทือ ย่านาง มันเทียน หวายลิง และเอื้องหมายนา เป็นพืชพื้นล่าง สัตว์ป่าที่สำคัญและสำรวจพบในป่านี้ได้แก่ นกยางกรอกพันธุ์จีน นกอีลุ้ม นกกระแตแต้แว้ด นกตบยุงหางยาว นกกะเต็นอกขาว หมูหริ่ง นากใหญ่ขนเรียบ หมีขอ หมูป่า กระรอกลายท้องแดง เต่านา ตะกวด งูหลามปากเป็ด งูเหลือม กบนา ปลาดุกลำพัน และปลาหัวตะกั่ว เป็นต้น

ในบริเวณแหล่งน้ำ ห้วย และลำคลองต่างๆ สำรวจพบปลาน้ำจืด 31 ชนิด ได้แก่ ปลาสลาด ปลาซิวใบไผ่ ปลาแขยงหิน ปลาดุกลำพัน ปลาซิวข้าวสารแคระ ปลาแรด ปลาช่อน ปลาก้าง ปลานิล เป็นต้น สัตว์น้ำที่พบบริเวณชายฝั่งหาดท้ายเหมืองได้แก่ ปลาทราย ปลากระบอก เต่ากระ เต่าหญ้า ปูลม ปูแสม หอยมวนพลู หอยตลับลาย กุ้งฝอย กุ้งตะกาด แมงกะพรุน

อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว

อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในจังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอแหลมสิงห์ อำเภอขลุง และอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 134.50 ตารางกิโลเมตร หรือ 84,062.50 ไร่ ประกอบด้วยป่าที่สมบูรณ์ เทือกเขาสูงสลับซับซ้อน ทำให้มีอากาศจะเย็นสบายตลอดทั้งปี ยอดเขาสลับซับซ้อนสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 20-924 เมตร จุดสูงสุดของพื้นที่อยู่ที่ยอดเขามาบหว้ากรอก มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 924 เมตร และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย อยู่ห่างจากจังหวัดจันทบุรีประมาณ 14 กิโลเมตร ถนนลาดยางตลอดสายทำให้สะดวกสบายในการไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ

ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้วได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 11 ของประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติเขาสระบาป” แต่ต่อมา นายผจญ ธนมิตรามณี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสระบาปได้ทำหนังสือขอเปลี่ยนชื่ออุทยานเป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว เนื่องจากน้ำตกพลิ้วเป็นน้ำตกที่มีความสวยงามตามธรรมชาติ มีน้ำตกตลอดปี อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป และเป็นจุดเด่นของอุทยาน

น้ำตกพลิ้ว เป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสวยงาม มีน้ำตลอดปี ประกอบด้วยสายธาร 2 สาย สายหนึ่งไหลลดหลั่นผ่านซอกหินผา อีกสายหนึ่งมีขนาดเล็กกว่า แต่ทิ้งตัวลงมาจากผาสูง 20 เมตร ทั้งสองสายไหลมารวมกันในแอ่งน้ำใสสะอาด มากสามารถมองเห็นพื้นล่างซึ่งส่วนใหญ่เป็นหินและทรายในระดับลึกกว่า 2 เมตร ภายในบริเวณน้ำตกและลำคลอง มีปลาใหญ่น้อยหลายชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นที่ตื่นตาตรึงใจกับฝูงปลาแก่ผู้ที่ไปท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะ “ปลาพลวงหิน”

อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร

อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร อยู่ในพื้นที่ของ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี อาณาเขตด้านใต้ติดต่อกับประเทศกัมพูชา มีถนนและบันไดทางขึ้นสู่ปราสาทเขาพระวิหารบริเวณผามออีแดง ในตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 19 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 83 ของประเทศ

พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาพระวิหาร ป่าฝั่งลำโดมใหญ่ ท้องที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ป่าไม้ชายแดนให้เป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ ห้ามเข้าไปและอาศัยอยู่โดยเด็ดขาด เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวยังคงความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่มาก มีทัศนียภาพที่สวยงาม ตลอดจนโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และกรมป่าไม้กำหนดและประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ

อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารมีทัศนียภาพและทิวทัศน์ที่สวยงามอยู่หลายแห่ง เช่น จุดชมวิวผามออีแดง จุดชมวิวหน้าผาช่องโพย บริเวณป่าและสวนหินรอบสระตราว ถ้ำฤๅษี แหล่งตัดหิน สถูปคู่ ภาพสลักนูนต่ำใต้ผามออีแดง น้ำตกผาช่องโพย จุดชมวิว ภูเซี่ยงหม้อ ปราสาทโดนตวล และที่สำคัญคือ ปราสาทเขาพระวิหาร อันเป็นโบราณสถานสำคัญเก่าแก่ ที่เคยเป็นกรณีพิพาทระหว่างไทยกับประเทศกัมพูชา เมื่อพ.ศ. 2505 และในที่สุดศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ได้ตัดสินให้ตัวปราสาทอยู่ในอธิปไตยของประเทศกัมพูชา แต่ถนนและบันไดทางขึ้นสู่ปราสาทเขาพระวิหารอยู่ทางฝั่งไทย และพื้นที่ทางขึ้นบริเวณผามออีแดงที่จังหวัดศรีสะเกษเป็นทางขึ้นที่สะดวกที่สุด

อุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ

อุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ เป็นอุทยานแห่งชาติในอำเภอพบพระ จังหวัดตาก เป็นอุทยานแห่งชาติที่ครอบคลุมพื้นที่กว้าง จุดท่องเที่ยวแต่ละแห่งอยู่ห่างกันพอสมควร โดยอยู่ถนนเส้นทางหลัก

แหล่งท่องเที่ยวภายในอุทยาน
น้ำตกพาเจริญ เป็นน้ำตกหินปูน ไหลจากลำห้วยน้อยใหญ่มารวมกันเป็นแอ่งใหญ่ แล้วไหลลงน้ำตก ลดหลั่นลงไป 37 ชั้นด้วยกัน และมีน้ำไหลตลอดปี
บ่อน้ำร้อนห้วยน้ำนัก เป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติ มีอุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียส เดินทางได้จากทางหลวงหมายเลข 1206 สายพบพระ-บ้านช่องแคบ
น้ำตกป่าหวาย เป็นน้ำตกหินปูนอีกแห่งหนึ่ง มีน้ำตลอดปี และมีป่าหวายหนาแน่น ใช้เส้นทาง 1090 เลี้ยวซ้ายก่อนถึงกิโลเมตรที่ 42 เข้าไปประมาณ 20 กิโลเมตร
น้ำตกสายฟ้าและน้ำตกสายรุ้ง เป็นน้ำตกที่มีน้ำตลอดปีอีกแห่งหนึ่ง มีละอองน้ำกระทบแสงแดดเหมือนรุ้งกินน้ำ
น้ำตกธารารักษ์หรือน้ำตกเจดีย์โคะ เป็นน้ำตกขนาดเล็ก ชั้นเดียว มีน้ำตลอดปี หน้าผาสูง 30 เมตร ข้างบนเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ อยู่ใกล้ตัวอำเภอพบพระ บนเส้นทาง 1206

ข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก ที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ หมู่ 6 ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก 63160 โทรศัพท์ 0 5550 0906

อุทยานแห่งชาติขุนน่าน อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

อุทยานแห่งชาติขุนน่าน ได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 111 ซึ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2552 โดยตั้งอยู่ในท้องที่ของอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

อุทยานแห่งชาติขุนน่าน หมายถึง “ขุนเขา ลำน้ำ อันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำน่าน” อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดอยภูคา และป่าผาแดง บริเวณท้องที่ตำบลดงพญา ตำบลบ่อเกลือใต้ และตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

สภาพภูมิประเทศทั่วไปของพื้นที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำชั้น 1A มีเขาสูงชันสลับซับซ้อนติดต่อกัน โดยมีระดับความสูงตั้งแต่ 600-1,745 เมตรจากระดับน้ำทะเล มียอดดอยผีปันน้ำในเทือกเขาผีปันน้ำเป็นจุดสูงสุด ที่ความสูงประมาณ 1,745 เมตรจากระดับน้ำทะเล อุทยานแห่งชาติขุนน่านเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำว้า อันเป็นลำน้ำสายใหญ่และสำคัญ ไหลผ่านกลางพื้นที่ในแนวทิศเหนือไหลลงทิศใต้ มีระยะทางการไหลผ่านพื้นที่ประมาณ 25.5 กิโลเมตร และมีลำห้วยสำคัญที่ไหลลงลำน้ำว้า ได้แก่ น้ำปาด น้ำสะปัน ห้วยตี๋ ห้วยห้า และน้ำแปด

เนื่องจากเป็นพื้นที่บริเวณเกือบเหนือสุดของประเทศ อยู่ระหว่าง เส้นรุ้ง ที่ 02-32.5 องศาเหนือ ระหว่างเส้นแวง ที่ 27.2-48.4 องศาตะวันออก สภาพภูมิประเทศเป็นเขาสูงสลับซับซ้อนเป็นที่สูง ทำให้มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 1-7 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูหนาว และประมาณ 28-33 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูร้อน โดยมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,900 – 2,200 มิลลิเมตรต่อปี ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติขุนน่านมีป่าไม้และภูเขารอบด้านห่างไกลจากชุมชนเมืองใหญ่อากาศบนพื้นที่นี้มีป่าไม้และภูเขารอบด้านห่างไกลจากชุมชนเมืองใหญ่อากาศพื้นที่จึงมีความบริสุทธิ์ แจ่มใส สดชื่น หนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี

สภาพพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติขุนน่านปกคลุมด้วยป่าดิบเขาประมาณร้อยละ 90 ป่าดิบแล้ง ร้อยละ 7 และทุ่งหญ้า ร้อยละ 3 ชนิดพันธุ์ไม้พบเห็นตั้งแต่ไม้ยืนต้น ได้แก่ ยางนา ยางแดง ตุ้มเต๋น ก่อ กำยาน กำลังเสือโคร่ง จำปีป่า มะม่วงป่า หว้า ทะโล้ มะไฟ แก้มขาว ติ้ว ตะไคร้ต้น รวมไปถึงไม้ไผ่ เฟิร์นชนิดต่างๆ ไผ่เลื้อย ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่พบบริเวณน้ำตกสะปันและลำน้ำว้า กล้วยไม้ดิน กระแตไต่ไม้ เอื้องผึ้ง เอื้องชะนี หวายป่า เอื้องหมายนา ค้างคาวดำ เป็นต้น

สัตว์ป่าที่สำรวจพบในพื้นที่อุทยานแห่งชาติขุนน่าน ได้แก่ เก้ง เลียงผา หมูป่า ชะมด หมีควาย กวางป่า ลิ่น หมูหริ่ง เม่น กระรอก กระแต ไก่ป่า นกชนิดต่างๆ สัตว์เลื้อยคลานที่พบได้แก่ กบ คางคก งูชนิดต่างๆ ปูห้วย เต่าปูลูเหนือ เป็นต้น