อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง

อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ใน อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา มีถนนเพชรเกษมตัดผ่าน แบ่งอุทยานแห่งชาติออกเป็นสองส่วนคือ เขาลำปี ฝั่งตะวันออก และ หาดท้ายเหมือง ฝั่งตะวันตก

เขาลำปี สภาพป่าในบริเวณเทือกเขาลำปีเป็น ป่าดิบชื้น พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ยาง หลุมพอ ตะเคียนทอง ตะเคียนชันตาแมว กระบาก เทพทาโร ยมหอม สุเหรียน ทุ้งฟ้า พลอง ฉก ฯลฯ พืชพื้นล่าง ได้แก่ ปุด เร่วดง หวายขม หวายขริง หวายกำพวน ไผ่ หมากผู้หมากเมีย คล้า กล้วยป่า และบริเวณที่ใกล้ลำธารจะเป็นเฟินตีนตะขาบ โปรงทอง ลำเพ็ง ผักกูด และกูดขน เป็นต้น เป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น เหยี่ยวผึ้ง เหยี่ยวรุ้ง ไก่ฟ้าหน้าเขียว นกหว้า นกแสกแดง นกเค้าป่าสีน้ำตาล นกโพระดก นกพญาไฟ ชะนีมือขาว ลิงเสน ลิงกัง ค่าง สมเสร็จ เก้ง และเลียงผา เป็นต้น

หาดท้ายเหมือง บริเวณหาดท้ายเหมืองเป็นที่ราบชายฝั่งด้านตะวันตกเป็นหาดทรายขาว ด้านตะวันออกจรด ป่าชายเลน ที่ขึ้นอยู่ริมคลองหินลาด พันธุ์ไม้ที่พบ ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนดำ ตะบูนขาว ลำพู ถั่วดำ ถั่วขาว แสมขาว และแสมดำ บางส่วนเป็นป่าจากล้วน ป่าชายเลนนี้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นแหล่งสืบพันธุ์ และสถานที่วางไข่ของสัตว์บกและสัตว์น้ำต่างๆ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลาต่างๆ จึงเป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารของนกและสัตว์ป่าหลากหลายชนิด เช่น นกกาน้ำเล็ก นกยางทะเล เหยี่ยวแดง นกแต้วแล้วป่าโกงกาง ลิงแสม พังพอนกินปู เหี้ย งูปากกว้างน้ำเค็ม งูสามเหลี่ยม งูแสมรัง และปลาซิวข้าวสารชวา เป็นต้น

บริเวณชายหาดจะเป็น ป่าชายหาด มี สนทะเล จิกเล หูกวาง หยีทะเล ปอทะเล เมา มะนาวผี และรักทะเล ส่วนพืชพื้นล่างได้แก่ สังหยู สาบเสือ ลำเท็ง ปรงทะเล เตยทะเล ผักบุ้งทะเล และถั่วทะเล ขึ้นอยู่ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลากชนิด เช่น เหยี่ยวขาว นกออก ไก่ป่า นกกวัก นกหัวโตทรายเล็ก นกเขาใหญ่ นกกระปูดใหญ่ นกบั้งรอกใหญ่ นกกะเต็นอกลาย นกตะขาบดง นกแซงแซวหางปลา ลิ่นชวา กระแตใต้ ค้างคาวขอบหูขาวเล็ก ชะมดแผงสันหางดำ พังพอนเล็ก แย้ จิ้งเหลนบ้านเป็นต้น

บริเวณศูนย์กลางพื้นที่หาดท้ายเหมืองประมาณ 1,000 ไร่ มีสภาพเป็น ป่าพรุ ที่มีน้ำจืดขังอยู่เกือบตลอดปี สภาพดินเป็นดินทรายละเอียดขาวนวล สังคมพืชที่เด่นชัดในสภาพป่านี้คือ เสม็ดขาว บริเวณที่ดอนจะมีเสม็ดแดง ชะมวงป่า มะพลับพรุ ตีนเป็ด และหว้าน้ำ ขึ้นปะปน พืชอิงอาศัยที่ขึ้นรอบลำต้นไม้ขนาดใหญ่ เช่น กระแตไต่ไม้ สไบสีดา เกล็ดนาคราช เฟินก้ามปู และเฟินข้าหลวง โดยมี กระดุมเงิน โคลงเคลง ปลาไหลเผือก เข็มป่า รามใหญ่ กะทือ ย่านาง มันเทียน หวายลิง และเอื้องหมายนา เป็นพืชพื้นล่าง สัตว์ป่าที่สำคัญและสำรวจพบในป่านี้ได้แก่ นกยางกรอกพันธุ์จีน นกอีลุ้ม นกกระแตแต้แว้ด นกตบยุงหางยาว นกกะเต็นอกขาว หมูหริ่ง นากใหญ่ขนเรียบ หมีขอ หมูป่า กระรอกลายท้องแดง เต่านา ตะกวด งูหลามปากเป็ด งูเหลือม กบนา ปลาดุกลำพัน และปลาหัวตะกั่ว เป็นต้น

ในบริเวณแหล่งน้ำ ห้วย และลำคลองต่างๆ สำรวจพบปลาน้ำจืด 31 ชนิด ได้แก่ ปลาสลาด ปลาซิวใบไผ่ ปลาแขยงหิน ปลาดุกลำพัน ปลาซิวข้าวสารแคระ ปลาแรด ปลาช่อน ปลาก้าง ปลานิล เป็นต้น สัตว์น้ำที่พบบริเวณชายฝั่งหาดท้ายเหมืองได้แก่ ปลาทราย ปลากระบอก เต่ากระ เต่าหญ้า ปูลม ปูแสม หอยมวนพลู หอยตลับลาย กุ้งฝอย กุ้งตะกาด แมงกะพรุน

กุ้ง จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง

กุ้ง จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีด้วยกันหลายวงศ์ กุ้งเป็นสัตว์น้ำ หายใจด้วยเหงือก ลำตัวยาว แบนหรือกลม แบ่งเป็นปล้องๆ เปลือกที่หุ้มท่อนหัวและอกคลุมมาถึงอกปล้องที่ 8 ส่วนใหญ่กรีมีลักษณะแบนข้าง ก้ามและขาอยู่ที่ส่วนหัวและอก มี 10 ขา มีทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม โดยปกติชอบหลบซ่อนตัวอยูเงียบ ๆ ตามพื้นน้ำหรือในวอกมือด ๆ จะออกหากินในเวลากลางคืน กุ้งกินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร เช่น กิน กุ้งด้วยกันเอง ลูกปลา ไส้เดือน สัตว์หน้าดินขนาดเล็กชนิดต่าง ๆ ข้าว เนื้อมะพร้าวตลอดจนซากสัตว์ สามารถแบ่งออกได้หลายชนิด เช่น กุ้งกุลาดำ กุ้งก้ามกราม กุ้งนาง กุ้งหลวง กุ้งก้ามเกลี้ยง กุ้งตะกาด กุ้งตะเข็บ กุ้งฝอย กุ้งหัวแข็ง กุ้งหัวโขน กุ้งขาว กุ้งรู กุ้งหิน กุ้งดีดขัน กุ้งแชบ๊วย กุ้งเครย์ฟิช ส่วนประกอบของเปลือกกุ้งส่วนใหญ่เป็นไคติน รองลงมาก็เป็นจำพวกแร่ธาตุ โปรตีน ส่วนของไขมัน เป็นต้น

กุ้งไทยเป็นสินค้าที่มีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกสูงมาก ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาการส่งออกกุ้งของไทยเติบโตเฉลี่ยราว 12% ต่อปี สูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของโลกที่ 4% ต่อปี ปัจจุบันประเทศไทยผลิตกุ้งได้ราว 500,000 ตันต่อปี ผลผลิตส่วนใหญ่ 80% หรือ 400,000 ตัน ใช้เพื่อการส่งออก สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้ปีละกว่า 90,000 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกกุ้งรวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกโดยในปี”52 กุ้งและผลิตภัณฑ์แปรรูปของไทยครองส่วนแบ่งในตลาดโลกสูงถึง 23.9% โดยมีปริมาณการส่งออก 389,999 ตัน คิดเป็นมูลค่า 94,149 ล้านบาท หรือสูงราว 12.23% ของมูลค่าส่งออกสินค้าอาหารทั้งหมดของไทย ตลาดส่งออกกุ้งของไทยที่สำคัญอันดับ 1 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 48.9% รองลงไปคือ ญี่ปุ่น 20.4% สหภาพยุโรป 12.5% แคนาดา 5.6% ออสเตรเลีย 2.4% และเกาหลีใต้ 2.1%

อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว

อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในจังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอแหลมสิงห์ อำเภอขลุง และอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 134.50 ตารางกิโลเมตร หรือ 84,062.50 ไร่ ประกอบด้วยป่าที่สมบูรณ์ เทือกเขาสูงสลับซับซ้อน ทำให้มีอากาศจะเย็นสบายตลอดทั้งปี ยอดเขาสลับซับซ้อนสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 20-924 เมตร จุดสูงสุดของพื้นที่อยู่ที่ยอดเขามาบหว้ากรอก มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 924 เมตร และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสาย อยู่ห่างจากจังหวัดจันทบุรีประมาณ 14 กิโลเมตร ถนนลาดยางตลอดสายทำให้สะดวกสบายในการไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ

ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้วได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 11 ของประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า “อุทยานแห่งชาติเขาสระบาป” แต่ต่อมา นายผจญ ธนมิตรามณี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสระบาปได้ทำหนังสือขอเปลี่ยนชื่ออุทยานเป็นอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว เนื่องจากน้ำตกพลิ้วเป็นน้ำตกที่มีความสวยงามตามธรรมชาติ มีน้ำตกตลอดปี อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป และเป็นจุดเด่นของอุทยาน

น้ำตกพลิ้ว เป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสวยงาม มีน้ำตลอดปี ประกอบด้วยสายธาร 2 สาย สายหนึ่งไหลลดหลั่นผ่านซอกหินผา อีกสายหนึ่งมีขนาดเล็กกว่า แต่ทิ้งตัวลงมาจากผาสูง 20 เมตร ทั้งสองสายไหลมารวมกันในแอ่งน้ำใสสะอาด มากสามารถมองเห็นพื้นล่างซึ่งส่วนใหญ่เป็นหินและทรายในระดับลึกกว่า 2 เมตร ภายในบริเวณน้ำตกและลำคลอง มีปลาใหญ่น้อยหลายชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นที่ตื่นตาตรึงใจกับฝูงปลาแก่ผู้ที่ไปท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ โดยเฉพาะ “ปลาพลวงหิน”

อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร

อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร อยู่ในพื้นที่ของ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี อาณาเขตด้านใต้ติดต่อกับประเทศกัมพูชา มีถนนและบันไดทางขึ้นสู่ปราสาทเขาพระวิหารบริเวณผามออีแดง ในตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 19 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 83 ของประเทศ

พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาพระวิหาร ป่าฝั่งลำโดมใหญ่ ท้องที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ป่าไม้ชายแดนให้เป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ ห้ามเข้าไปและอาศัยอยู่โดยเด็ดขาด เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวยังคงความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่มาก มีทัศนียภาพที่สวยงาม ตลอดจนโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และกรมป่าไม้กำหนดและประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ

อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารมีทัศนียภาพและทิวทัศน์ที่สวยงามอยู่หลายแห่ง เช่น จุดชมวิวผามออีแดง จุดชมวิวหน้าผาช่องโพย บริเวณป่าและสวนหินรอบสระตราว ถ้ำฤๅษี แหล่งตัดหิน สถูปคู่ ภาพสลักนูนต่ำใต้ผามออีแดง น้ำตกผาช่องโพย จุดชมวิว ภูเซี่ยงหม้อ ปราสาทโดนตวล และที่สำคัญคือ ปราสาทเขาพระวิหาร อันเป็นโบราณสถานสำคัญเก่าแก่ ที่เคยเป็นกรณีพิพาทระหว่างไทยกับประเทศกัมพูชา เมื่อพ.ศ. 2505 และในที่สุดศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ได้ตัดสินให้ตัวปราสาทอยู่ในอธิปไตยของประเทศกัมพูชา แต่ถนนและบันไดทางขึ้นสู่ปราสาทเขาพระวิหารอยู่ทางฝั่งไทย และพื้นที่ทางขึ้นบริเวณผามออีแดงที่จังหวัดศรีสะเกษเป็นทางขึ้นที่สะดวกที่สุด

วันศิลปินแห่งชาติ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี

วันศิลปินแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งนับถือกันว่า ทรงมีพระปรีชาสามารถในศิลปกรรม ทรงอุปถัมภ์บำรุงศิลปกรรมแขนงต่าง ๆ ตลอดจนทรงส่งเสริมเชิดชูศิลปินผู้มีฝีมือมาตลอดรัชสมัยพระองค์ เพื่อรำลึกถึงพระองค์ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 ให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันศิลปินแห่งชาติ

การมีวันศิลปินแห่งชาตินั้น สืบเนื่องจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติต้องการให้นานาอารยประเทศยอมรับการมีชื่อเสียงเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยมีอารยธรรม วัฒนธรรมเทียบเท่ากับนานาอารยประเทศ จึงจัดให้มีโครงการประกาศศิลปินแห่งชาติขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2527 เพื่อจัดทำเนียบศิลปินทุกแขนงทั่วประเทศ และสรรหาบุคคลผู้สร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะด้วยความอุตสาหะ และมีผลงานปรากฏต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่องยาวนาน แล้วยกย่องเกียรติคุณให้เป็นศิลปินแห่งชาติ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจะนำศิลปินแห่งชาติเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้แทนพระองค์ เพื่อรับพระราชทานเข็มและโล่เชิดชูเกียรติ ในวันศิลปินแห่งชาติ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ทุก ๆ ปี

อนึ่ง ในวันศิลปินแห่งชาติ ทางราชการยังจัดงานนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปินแห่งชาติและศิลปะพื้นบ้านขึ้นทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในจังหวัดที่มีศิลปินแห่งชาติสังกัดอยู่ โดยให้ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัด และศูนย์วัฒนธรรมอำเภอรับผิดชอบดำเนินการ โดยจัดเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2528

อุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ

อุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ เป็นอุทยานแห่งชาติในอำเภอพบพระ จังหวัดตาก เป็นอุทยานแห่งชาติที่ครอบคลุมพื้นที่กว้าง จุดท่องเที่ยวแต่ละแห่งอยู่ห่างกันพอสมควร โดยอยู่ถนนเส้นทางหลัก

แหล่งท่องเที่ยวภายในอุทยาน
น้ำตกพาเจริญ เป็นน้ำตกหินปูน ไหลจากลำห้วยน้อยใหญ่มารวมกันเป็นแอ่งใหญ่ แล้วไหลลงน้ำตก ลดหลั่นลงไป 37 ชั้นด้วยกัน และมีน้ำไหลตลอดปี
บ่อน้ำร้อนห้วยน้ำนัก เป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติ มีอุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียส เดินทางได้จากทางหลวงหมายเลข 1206 สายพบพระ-บ้านช่องแคบ
น้ำตกป่าหวาย เป็นน้ำตกหินปูนอีกแห่งหนึ่ง มีน้ำตลอดปี และมีป่าหวายหนาแน่น ใช้เส้นทาง 1090 เลี้ยวซ้ายก่อนถึงกิโลเมตรที่ 42 เข้าไปประมาณ 20 กิโลเมตร
น้ำตกสายฟ้าและน้ำตกสายรุ้ง เป็นน้ำตกที่มีน้ำตลอดปีอีกแห่งหนึ่ง มีละอองน้ำกระทบแสงแดดเหมือนรุ้งกินน้ำ
น้ำตกธารารักษ์หรือน้ำตกเจดีย์โคะ เป็นน้ำตกขนาดเล็ก ชั้นเดียว มีน้ำตลอดปี หน้าผาสูง 30 เมตร ข้างบนเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ อยู่ใกล้ตัวอำเภอพบพระ บนเส้นทาง 1206

ข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก ที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ หมู่ 6 ต.ช่องแคบ อ.พบพระ จ.ตาก 63160 โทรศัพท์ 0 5550 0906

สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต หมายถึง “การเคลื่อนย้าย”

สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต หมายถึง “การเคลื่อนย้าย” ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี คือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สงกรานต์สืบทอดมาแต่โบราณคู่กับตรุษ จึงเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึง ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เดิมวันที่จัดเทศกาลกำหนดโดยการคำนวณทางดาราศาสตร์ แต่ปัจจุบันระบุแน่นอนว่า 13 ถึง 15 เมษายน วันขึ้นปีใหม่ไทยเป็นวันเริ่มปีปฏิทินของไทยจนถึง พ.ศ. 2431 จากนั้นวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่จนถึง พ.ศ. 2483

พิธีสงกรานต์เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติและความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ สังคมไทยสมัยใหม่เกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีการประชาสัมพันธ์ในเชิงท่องเที่ยวว่าเป็น Water Festival หรือ เทศกาลแห่งน้ำ ซึ่งตัดส่วนที่เป็นความเชื่อดั้งเดิมไป

ปัจจุบันปฏิทินไทยกำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ อย่างไรก็ตาม ประกาศสงกรานต์อย่างเป็นทางการจะคำนวณตามหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ ซึ่งแต่โบราณมา กำหนดให้วันแรกของเทศกาลเป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า “วันมหาสงกรานต์” วันถัดมาเรียกว่า “วันเนา” (ภาษาเขมร แปลว่า “อยู่ “) และวันสุดท้าย เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า “วันเถลิงศก”

อุทยานแห่งชาติขุนน่าน อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

อุทยานแห่งชาติขุนน่าน ได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 111 ซึ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2552 โดยตั้งอยู่ในท้องที่ของอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

อุทยานแห่งชาติขุนน่าน หมายถึง “ขุนเขา ลำน้ำ อันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำน่าน” อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดอยภูคา และป่าผาแดง บริเวณท้องที่ตำบลดงพญา ตำบลบ่อเกลือใต้ และตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

สภาพภูมิประเทศทั่วไปของพื้นที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำชั้น 1A มีเขาสูงชันสลับซับซ้อนติดต่อกัน โดยมีระดับความสูงตั้งแต่ 600-1,745 เมตรจากระดับน้ำทะเล มียอดดอยผีปันน้ำในเทือกเขาผีปันน้ำเป็นจุดสูงสุด ที่ความสูงประมาณ 1,745 เมตรจากระดับน้ำทะเล อุทยานแห่งชาติขุนน่านเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำว้า อันเป็นลำน้ำสายใหญ่และสำคัญ ไหลผ่านกลางพื้นที่ในแนวทิศเหนือไหลลงทิศใต้ มีระยะทางการไหลผ่านพื้นที่ประมาณ 25.5 กิโลเมตร และมีลำห้วยสำคัญที่ไหลลงลำน้ำว้า ได้แก่ น้ำปาด น้ำสะปัน ห้วยตี๋ ห้วยห้า และน้ำแปด

เนื่องจากเป็นพื้นที่บริเวณเกือบเหนือสุดของประเทศ อยู่ระหว่าง เส้นรุ้ง ที่ 02-32.5 องศาเหนือ ระหว่างเส้นแวง ที่ 27.2-48.4 องศาตะวันออก สภาพภูมิประเทศเป็นเขาสูงสลับซับซ้อนเป็นที่สูง ทำให้มีอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 1-7 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูหนาว และประมาณ 28-33 องศาเซลเซียสในช่วงฤดูร้อน โดยมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,900 – 2,200 มิลลิเมตรต่อปี ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติขุนน่านมีป่าไม้และภูเขารอบด้านห่างไกลจากชุมชนเมืองใหญ่อากาศบนพื้นที่นี้มีป่าไม้และภูเขารอบด้านห่างไกลจากชุมชนเมืองใหญ่อากาศพื้นที่จึงมีความบริสุทธิ์ แจ่มใส สดชื่น หนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี

สภาพพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติขุนน่านปกคลุมด้วยป่าดิบเขาประมาณร้อยละ 90 ป่าดิบแล้ง ร้อยละ 7 และทุ่งหญ้า ร้อยละ 3 ชนิดพันธุ์ไม้พบเห็นตั้งแต่ไม้ยืนต้น ได้แก่ ยางนา ยางแดง ตุ้มเต๋น ก่อ กำยาน กำลังเสือโคร่ง จำปีป่า มะม่วงป่า หว้า ทะโล้ มะไฟ แก้มขาว ติ้ว ตะไคร้ต้น รวมไปถึงไม้ไผ่ เฟิร์นชนิดต่างๆ ไผ่เลื้อย ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่พบบริเวณน้ำตกสะปันและลำน้ำว้า กล้วยไม้ดิน กระแตไต่ไม้ เอื้องผึ้ง เอื้องชะนี หวายป่า เอื้องหมายนา ค้างคาวดำ เป็นต้น

สัตว์ป่าที่สำรวจพบในพื้นที่อุทยานแห่งชาติขุนน่าน ได้แก่ เก้ง เลียงผา หมูป่า ชะมด หมีควาย กวางป่า ลิ่น หมูหริ่ง เม่น กระรอก กระแต ไก่ป่า นกชนิดต่างๆ สัตว์เลื้อยคลานที่พบได้แก่ กบ คางคก งูชนิดต่างๆ ปูห้วย เต่าปูลูเหนือ เป็นต้น

ระยองมีชื่อในประวัติศาสตร์ไทยครั้งแรกในครั้งที่กรุงศรีอยุธยาแตก

จังหวัดระยอง เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกของประเทศไทย เป็นจังหวัดที่มีรายได้ประชากรต่อหัวสูงที่สุดในประเทศ และผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดอยู่ในอันดับ 2 ของประเทศไทย เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากมาย และเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ทั้งทางด้านอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และการเกษตรกรรม

ระยองมีชื่อในประวัติศาสตร์ไทยครั้งแรกในครั้งที่กรุงศรีอยุธยาแตก พระเจ้าตากสินมหาราชเป็นช่วงสั้นก่อนที่จะเข้าตีจันทบุรีและรวบรวมกำลังทหารเพื่อยึดกู้กรุงศรีอยุธยา ระหว่างที่พระองค์ประทับอยู่ในระยอง กองทัพเรือก็ได้ถูกจัดตั้งขึ้นด้วย ปัจจุบันนี้ในเมืองระยองผู้คนก็ยังนับถือพระเจ้าตากสินมหาราช โดยเห็นได้จากอนุสาวรีย์ของพระองค์​ ณ​ วัดลุ่มมหาชัยชุมพลในตัวเมืองระยองที่มีผู้คนมาสักการะมากมาย มากไปกว่านั้นถนนสายสำคัญในตัวเมืองระยองยังมีชื่อว่า “ถนนตากสินมหาราช”

ตราประจำจังหวัด : ต้นมะพร้าว เกาะเสม็ด และพลับพลาที่ประทับในรัชกาลที่ 5 บนเกาะเสม็ด คำขวัญประจำจังหวัด : ผลไม้รสล้ำ อุตสาหกรรมก้าวหน้า น้ำปลารสเด็ด เกาะเสม็ดสวยหรู สุนทรภู่กวีเอก

เชียงราย เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย

เชียงราย เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย เป็นที่ตั้งของเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคก่อตั้งอาณาจักรล้านนา เช่น เมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองเชียงของ เมืองเธริง หรือ เมืองเทิง เชียงรายเดิมก่อน”ยุคเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่” สมัยพระเจ้ากาวิละ ชนชาติที่เป็นต้นกำเนิดของคนเชียงรายดั้งเดิม อาจรวมถึงคนในภาคเหนือทั้งหมด ก่อนมีแคว้นโยนกซึ่งเป็นรัฐของชาวไทยวน หรือที่เรียกว่าคนเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ไท-กะได หรือ ตระกูลภาษาไท-กะได ก็คือชนชาติจีนแถบมณฑลยูนนาน ที่อพยพลงมาตั้งรกรากนั่นเอง ได้แตกเป็นกลุ่มหลายกลุ่มชนเผ่า จึงไม่แปลกที่คนเมืองจะมีพื้นฐานรากเหง้าเป็นคนจีนยูนนาน ปัจจุบันจังหวัดเชียงรายแบ่งการปกครองออกเป็น 18 อำเภอ มีแม่น้ำกก แม่น้ำอิง และแม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำสายสำคัญ ทำเลที่ตั้งของจังหวัดเชียงรายอยู่บริเวณรอยต่อระหว่าง 3 ประเทศ คือ ประเทศไทย สปป.ลาว และ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา หรือรู้จักกันในนามของดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งอดีตเป็นแหล่งผลิตฝิ่นที่สำคัญของโลก ปัจจุบัน จังหวัดเชียงรายได้รับความสนใจในฐานะประตูสู่ เมียนมา ลาว และจีนตอนใต้ ผ่านทางหลวงเอเชียสาย 2 และทางหลวงเอเชียสาย 3

เมืองเชียงราย มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เป็นที่ตั้งของหิรัญนครเงินยางเชียงแสน ซึ่งเป็นนครหลวงก่อนการกำเนิดอาณาจักรล้านนา มี “คำเมือง” เป็นภาษาท้องถิ่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งด้านศิลปะ ประเพณีวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในรูปแบบล้านนา ไทใหญ่ ไทเขิน และไทลื้อจากสิบสองปันนาผสมผสานกัน

จังหวัดเชียงราย มีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงในทวีปตอนเหนือ มีพื้นที่ราบสูงเป็นหย่อม ๆ ในเขตอำเภอแม่สรวย อำเภอเวียงป่าเป้า และอำเภอเชียงของ โดยมีดอยลังกาหลวง เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในจังหวัด บริเวณส่วนที่ราบตามลุ่มแม่น้ำสำคัญในตอนกลางของพื้นที่ ได้แก่ อำเภอพาน อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่จัน อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง มีป่าไม้ปกคลุม มีที่ราบเป็นหย่อม ๆ ในระหว่างหุบเขา และตามลุ่มน้ำสำคัญ จังหวัดเชียงรายมีภูเขาล้อมรอบโดยเฉพาะทางทิศตะวันตกเป็นแนวเทือกเขาผีปันน้ำ ติดต่อกันไปเป็นตลอดเขตจังหวัด